messager
 
เทศบาลตำบลหนองหล่ม call ข้อมูลการติดต่อ
ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ เทศบาลตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
check_circle เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

“อาเซียน” อธิบายอย่างเป็นทางการได้ว่าคือ “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่ตัวย่อชื่อภาษาอังกฤษย่อได้ว่า “ASEAN” ซึ่งมาจากชื่อเต็มว่า “Association of Southeast Asian Nations” แต่แรกเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 อาเซียนเป็นสมาคมของประเทศสมาชิกจริงๆ ซึ่งแรกเริ่มมีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ คือ Indonesia, Malaysia, Philippines, Singapore และ Thailand จนถึงวันนี้อาเซียนได้สมาชิกมาเพิ่มอีก 5 ประเทศ คือ Brunei Darussalam, Cambodia, Lao, Myanmar และ Vietnam (เรียงชื่อประเทศตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ) สภาพการเป็นสมาคมของประเทศที่เป็นสมาชิกก็มีความหมายเพียงการคบค้าสมาคมไปมาหาสู่ประชุมเล็กประชุมใหญ่ร่วมกันเป็นระยะๆ ลงนามในเอกสารปฏิญญาหรือสนธิสัญญาอะไรต่อมิอะไรร่วมกัน ลงนามก็ลงนามกันไป จากนั้นผู้นำของทุกประเทศก็แยกย้ายกันกลับประเทศตนเอง กลับไปทำตามความตกลงหรือจะทำช้ากว่ากำหนด หรือจะไม่ทำอะไรเลยทั้งๆที่ลงนามในความตกลงกันไปแล้วก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีบทลงโทษ ไม่มีใครจะว่าอะไรให้เสียหาย อาเซียนจึงเกิดมาอย่างไม่เติบโตเหมือน “ทองไม่รู้ร้อน” แต่ความไม่รู้้ร้อนไม่รู้หนาวของอาเซียนจะยังคงแบบเดิมต่อไปมิได้อีกแล้ว เพราะขณะนี้อาเซียนจะเอาจริงแล้วในการทำงานร่วมกันในหมู่ 10 รัฐสมาชิก โดยปรับบทบาทอาเซียนให้เป็นองค์กรที่งานรับผิดชอบมากกว่าในสถานภาพสมาคม โดยอาเซียนประกาศให้ 10 ประเทศสมาชิกร่วมมือกันปรับโครงสร้างและเป้าหมายของ “สมาคม” ให้เป็น “ประชาคม” ให้ได้ในเร็ววัน ประชาคมอาเซียนคืออะไร? คำว่า “ประชาคม” ถูกใช้เรียกกระบวนการสร้างสัมพันธ์ในอาเซียนมาแต่แรกเริ่ม เมื่อมาถึงวันนี้อาเซียนปรับแนวทางมามุ่งสร้างทั้งรัฐและประชาชนพลเมืองของทั้ง 10 ประเทศ ให้หล่อหลอมความคิดร่วมกัน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันดุจว่าจะรวมทั้ง 10 ประเทศให้เป็นเกือบเหมือนประเทศเดียวกัน ในข้อเท็จจริงแล้วทุกประเทศยังคงเป็นประเทศเอกราชเช่นเดิม ดูแลบริหารปกครองประชาชนพลเมืองของตนเป็นสังคมประเทศตามเดิม แต่อาเซียนต้องการให้ทั้ง 10 ประเทศคิดร่วมกันใหม่ว่าให้เราทั้งหมดหลอมรวมวิถีการดำเนินชีวิตทุกมิติให้เป็น 10 ประเทศร่วมชตากรรมเดียวกันเป็นหนึ่งประชาคม เรียกความสัมพันธ์ในภาพรวมทั้งหมดนี้ว่าเป็น “ประชาคมอาเซียน” แม้ว่าแต่ละประเทศยังแยกอยู่เป็นประเทศๆไป แต่ความรู้สึกนึกคิดและแนวนโยบายการปฏิสัมพันธ์กันในภูมิภาคให้ถือว่าทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมกันเป็น “หนึ่งประชาคม” เรียกว่า “ประชาคมอาเซียน” ให้พวกเราทุกคนในภูมิภาคช่วยกันทำงาน สร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทำให้เกิดความรู้สึกจริงๆให้ได้ว่าเราทั้งหมดเป็นประชาคมเดียวกัน มีความรู้สึกเป็นกลุ่มชาติกลุ่มพลเมืองที่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน มีแนวคิดแนวฝันมองการณ์ไกลไปข้างหน้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยเหหตุนี้อาเซียนจึงสร้างคำขวัญเป็นหลักนำทางว่าอาเซียนมี “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (One Vision, One Identity, One Community) อาเซียนตั้งเป้าไว้สูง แต่เป็นเป้าที่ไม่เกินเอื้อม จับต้องได้ ทำให้สำเร็จได้ และต้องการทำให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2558 หรือ ค.ศ. 2015 ให้จงได้ ดังนั้นในปีที่ประเทศไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียน จากเดือนสิงหาคม 2551 ถึง เดือนธันวาคม 2552 อาเซียนได้ประกาศ “Roadmap for an ASEAN Community 2009-2015” หรือ “แผนปฏิบัติการสู่ประประชาคมอาเซียน 2009-2015” ซึ่งจัดแยกแผนงานสร้างประชาคมเป็น 3 เรื่องสำคัญพื้นฐาน คือ : 1. การเมืองและความมั่นคง 2. เศรษฐกิจ 3. สังคมและวัฒนธรรม ทั้งสามเรื่องใหญ่นี้อาเซียนเรียกเป็นทางการว่าเป็นสามเสาหลักหรือเสาค้ำประชาคมอาเซียนในภาพรวมให้แข็งแกร่ง สามเรื่องสามเสาหลักนี้อาเซียนเรียกแยกเป็น 3 ประชาคมแยกย่อยช่วยค้ำจุนประชาคมอาเซียนในภาพรวมให้มั่นคง 1. เสาหลักเศรษฐกิจ เรียกว่า “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” 2. เสาหลักการเมือง เรียกว่า “ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน 3. เสาหลักสังคมและวัฒนธรรม เรียกว่า “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” ทั้งสามเสาหลัก หรือ สามประชาคมนี้ เรียกรวมกันว่าเป็น “ประชาคมอาเซียน” ประชาคมอาเซียนมีความสำคัญต่อพลเมืองไทย (และพลเมืองอาเซียน) อย่างไร? ประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลักมีความสำคัญต่อแบบแผนการสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศ หากเป็นในอดีตเรื่องทำนองนี้จะถูกปัดไปเป็นเรื่องในความรับผิดชอบของรัฐบาล ประชาชนไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ในเมื่ออาเซียนพลิกความคิดใหม่ตามกฏบัตรอาเซียนที่ประกาศให้มีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2551/2008 ดุจเป็นรัฐธรรมนูญร่วมของอาเซียนที่รัฐสมาชิกทั้งหายต้องยึดถือและปฏิบัติตาม เมื่อเป็นดังนี้แล้วทุกเรื่องที่เกิด ทุกอย่างทำ จะมีผลกระทบต่อประชาชนพลเมืองไทยและพลเมืองอีก 9 ประเทศของอาเซียนโดยตรง ทั้งการเมืองและความมั่นคง ทั้งการเศรษฐกิจ และทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม เพราะอะไรที่กำหนดแล้วว่าจะทำ ก็ต้องทำเหมือนกันหมด กระทบเท่ากันหมดในทุกประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน หากลงนามสร้างสันติภาพร่วมกัน พลเมืองทั้งหลายก็ต้องช่วยกันสร้างสันติภาพระหว่างกัน หากตกลงว่าจะเปิดพรมแดนไปมาหาสู่ ทำมาค้าขายกันอย่่างเสรี ไม่มีกำแพงขวางกั้น ทั้งกำแพงภาษีและกระบวนงานด่านศุลกากร อาเซียนบอกว่าให้สะดวกรวดเร็วก็จะต้องทำให้ได้สะดวกรวดเร็วเสมอเหมือนเท่าเทียมกันทั้งหมด เมื่ออาเซียนตกลงให้เปิดเขตการค้าเสรีก็ต้องเปิดเสรีพร้อมกันทั้งหมด หากอาเซียนตกลงว่าจะต้องจรรโลงรักษาความแตกต่างหลากหลายทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมในอาเซียนให้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของอาเซียนร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกชาติทุกกลุ่มวัฒนธรรมธรรมในท้องถิ่นต่างๆของอาเซียนก็จะต้องมีจิตสำนึกร่วมอัตลกษณ์เดียวกันให้ได้ รวมความว่าความตกลงของอาเซียนผ่านการลงนามของผู้นำในระดับต่างๆล้วนมีผลกระทบต่อพลเมืองไทยและพลเมืองอาเซียนทั้งสิ้น พลเมืองไทย ยังไม่พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเกิดของประชาคมอาเซียนเป็นการค่อยๆเกิด ค่อยๆพัฒนา ค่อยๆเติบโต และค่อยเป็นค่อยไป เป็นกระบวนการที่ถูกปล่อยให้พัฒนาไปช้าๆมาแตแรกเริ่ม แต่มาถูกเร่งให้เป็นรูปธรรมโดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2558/2015 และมีเอกสารคู่มือการทำงานไปสู่ประชาคมอาเซียนที่เรียกว่า “Roadmap for an ASEAN Community” และเอกสารที่ว่านี้ก็เพิ่งจัดทำได้มาเพียงสามปีเท่านั้น นับจากปี 2552/2009 เหลือเวลาอีกเพียงสี่ปีเท่านั้นที่จะถึงปีเป้าหมายของการเกิดประชาคมอาเซียน เวลาของการเตรียมพร้อมนั้นน้อยมาก ความตื่นตัวในหมู่ประชาชนไทยเองยังไม่ปรากฏ นอกเหนือไปจากการทำกิจกรรมในสถาบันการศึกษาจำนวนไม่มากนัก ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังพบว่ารัฐบาลเองก็ยังไม่ตื่นตัว ยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ใดๆเลยในอันที่จะนำทางประชาชนไปสู่ประชาคมอาเซียน รัฐบาลปัจจุบันยังไม่ประกาศแผนปฏิบัติการส่วนของไทยในการไปสู่ประชาคมอาเซียนเลย